สัตว์ทดลองที่ใช้ในการศึกษาการติดเชื้อ A.baumannii มีอยู่มากมาย ทั้งสัตว์ฟันแทะ(rodent), ที่ไม่ใช้สัตว์ฟันแทะ(non rodent), สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมอื่นๆ และที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม(nonmamalian) สามารถแบ่งโมเดลสัตว์ทดลองตามชนิดของการติดเชื้อ A.baumannii ได้ดังนี้
- Pneumonia models การติดเชื้อ A.baumannii ที่พบบ่อยคือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดปอดบวม สัตว์ทดลองส่วนใหญ่จึงเป็นโมเดลปอดบวม ที่นิยมใช้มากก็คือ
- mouse pneumonia model ใช้ศึกษาได้หลายรูปแบบทั้งอัตราการตาย(mortality) ปริมาณแบคทีเรีย(tissue bacterial load) และระดับcytokine ใน bronchoalveolar lavage และในซีรั่ม นอกจากนี้ยังใช้ศึกษาลักษณะเนื้อเยื่อของปอดหลังการติดเชื้อ การทำให้เกิดการติดเชื้อทำได้หลายทาง เช่น ให้เชื้อทางหลอดลม(intratracheal) หรือทางจมูก(intranasal) ปกติเชื้อ A.baumannii ส่วนใหญ่มีความรุนแรงในการก่อโรคต่ำ การทำให้หนูติดเชื้อจึงทำได้ยาก บางครั้งต้องทำให้หนูเกิดภาวะที่มีเม็ดเลือดขาวชนิด neutrophil ต่ำเสียก่อน โดยการให้ cyclophosphamide ก่อนการรับเชื้อ 4 วัน หรือใช้ porcine mucin ฉีดร่วมกับเชื้อ แต่สำหรับ porcine mucin ไม่เหมาะกับการพ่นเชื้อทางจมูกเพราะเป็นสารที่หนืดข้น
- rat pneumonia model ลักษณะการติดเชื้อในหนู rat พบว่าคล้ายคลึงกับการติดเชื้อในคนทั้งในแง่ของ จำนวนแบคทีเรียในปอด, ลด arterial oxygenation, เพิ่มระดับ cytokine, กระตุ้นเม็ดเลือดขาวมายังบริเวณติดเชื้อ และอัตราการตาย ข้อดีของการใช้หนู rat คือตัวใหญ่ จึงใส่เชื้อได้ง่าย และไม่ต้องกระตุ้นให้เกิดภาวะ neutrophil ต่ำก่อน
- guinea-pig model ถูกนำมาใช้เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหลายตัวร่วมกัน ในเชื้อดื้อยา (MDR A.baumannii) ลักษณะการใส่เชื้อจะเหมือนในหนู rat เพราะตัวใหญ่
- Skin and soft tissue infection models
- A.baumannii burn infection model ใช้ได้ทั้งหนู rat และ mouse โดยทำให้เกิดแผลไหม้ แล้วใส่เชื้อลงในแผล แล้วนับจำนวนเชื้อที่บริเวณแผลเพื่อดูประสิทธิภาพการรักษา
- soft tissue infection ใช้ได้ทั้งหนู rat และ mouse เช่นกัน ทำให้เกิดการติดเชื้อโดยการฉีดเชื้อเข้ากล้ามเนื้อขา หรือทำให้เกิดกระเปาะ(pouch)ในชั้น subcutaneous ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถฉีดเชื้อซ้ำเข้าไปในกระเปาะได้
- Sepsis models เมื่อเปรียบเทียบกับโมเดลที่กล่าวมาแล้ว sepsis model มีการพัฒนาน้อยที่สุด ส่วนใหญ่มักจะใช้ศึกษาผลการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ความรุนแรงในการก่อโรค(virulence)ของเชื้อ โดยฉีดเชื้อเข้าทางหน้าท้อง(intraperitoneal) โมเดลนี้มีส่วนคล้ายการติดเชื้อในกระแสเลือดของคน คือ ทำให้ระดับ cytokine ต่างๆในซีรั่มเพิ่มขึ้น เกิดการกระจายของเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ และมีอัตราการตายสูง
- Other mammalian models of A.baumannii infection นอกจากหนู mouse และ rat แล้วยังมีการใช้กระต่ายเป็นโมเดล ศึกษาเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งมีข้อดีคือสามารถเจาะน้ำไขสันหลังออกมาตรวจได้เป็นระยะๆ เพื่อติดตามโรค นอกจากนี้ยังใช้ศึกษาเยื่อบุหัวใจอักเสบ โดยการใส่สายสวน(catheter)ในหัวใจห้องล่างซ้ายแล้วจึงใส่เชื้อเข้าไป
- Nonmammalian models of A.baumannii infection ถึงแม้ว่าโมเดลที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมจะมีข้อดีที่ลักษณะการเกิดและดำเนินไปของโรคคล้ายกับของคน และเป็นประโยชน์ที่จะศึกษาผลของการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต่างๆ แต่ก็มีข้อเสียคือราคาแพงและปัญหาทางด้านจริยธรรม จึงมีการใช้โมเดลอื่นๆ ที่ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น
- Galleria mellonella เป็นตัวอ่อนของหนอนผีเสื้อกลางคืน ใช้เป็นโมเดลศึกษาความรุนแรงในการก่อโรคของเชื้อ(virulence)
- Caenorhabditis elegans เป็นหนอนตัวกลม ยาวประมาณหนึ่งเซนติเมตร ใช้ศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างยูคาริโอตและโปรคาริโอต (eukaryote-prokaryote interaction)
- Dictyostelium discoideum เป็นอมีบาที่พบในดิน ถูกนำมาใช้ศึกษาความรุนแรงในการก่อโรค(virulence)
Please comment with your real name using good manners.